คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 118/2545
เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งได้ซื้อสินค้าไปโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ หรือตามพฤติการณ์ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าไปโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้ประกอบการขายปลีกหรือขายส่งสินค้าหรือผู้แทนจำหน่าย เมื่อผู้ขายสินค้าดังกล่าวจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งอาจเป็นสัญญาระยะยาว ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง เงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินดังกล่าวจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย
ตัวอย่าง
(1) บริษัท ก จำกัด และบริษัทผู้แทนจำหน่าย มีข้อตกลงว่า เพื่อเป็นการ ส่งเสริมการขายสินค้า บริษัท ก จำกัด จะใช้คูปองติดกับตัวสินค้าเป็นส่วนลดเงินสด เมื่อลูกค้านำสินค้าพร้อมคูปองมาชำระเงิน บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะให้ส่วนลดเงินสดตามราคาคูปองนั้น และบริษัทผู้แทนจำหน่ายจะได้รับเงินชดเชยส่วนลดเงินสดตามคูปองนั้นคืนจากบริษัท ก จำกัด เงิน ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ก จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(2) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท ข จำกัด ได้ขายสินค้าให้แก่ร้านค้าสะดวกซื้อซึ่งประกอบกิจการค้าปลีก มีข้อตกลงว่าร้านค้าฯ ไม่สามารถนำสินค้าจากแหล่งอื่นมาขาย จะต้องขายสินค้าของบริษัท ข จำกัด เท่านั้น โดยบริษัท ข จำกัด ต้องจ่ายค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าและจ่ายค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance fee) ให้แก่ร้านค้าฯ เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ข จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(3) บริษัท ค จำกัด และบริษัทผู้แทนจำหน่าย มีข้อตกลงว่า เพื่อเป็น หลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อจากบริษัท ค จำกัด บริษัท ค จำกัด ได้กำหนดให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายซึ่งชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้ธนาคารรับรองตั๋ว เมื่อบริษัทผู้แทนจำหน่ายชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารแล้ว บริษัท ค จำกัด จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการรับรองตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายในภายหลัง เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ค จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(4) บริษัท ง จำกัด และบริษัทผู้แทนจำหน่าย มีข้อตกลงว่า บริษัท ง จำกัด มีนโยบายยกเลิกคลังสินค้าทั่วประเทศและใช้สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย เป็นผลทำให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศซึ่งต้องการติดต่อกับบริษัท ง จำกัด จะต้องโทรศัพท์ถึงสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริษัท ง จำกัด จึงจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าโทรศัพท์ในส่วนที่เกินจากค่าโทรศัพท์ในเขตพื้นที่เดียวกันให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ง จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(5) บริษัท จ จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยส่งสินค้า ถึงบริษัทผู้แทนจำหน่าย ต่อมามีข้อตกลงกับบริษัทผู้แทนจำหน่ายว่า หากบริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อสินค้าจากบริษัท จ จำกัด โดยขนสินค้าเอง บริษัท จ จำกัด จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนส่งให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย หรือจะลดราคาสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท จ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(6) บริษัท ฉ จำกัด ประกอบกิจการขายกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ มี ข้อตกลงกับบริษัทผู้แทนจำหน่ายว่า กรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายนำสินค้าที่ซื้อจากบริษัท ฉ จำกัด ไปจัดแสดงหรือติดตั้งให้เห็นสภาพการใช้งานจริง เช่น ปูกระเบื้องและติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเป็นห้องน้ำ กรณีดังกล่าว เมื่อบริษัทผู้แทนจำหน่ายจ่ายค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างไปแล้ว บริษัท ฉ จำกัด จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ฉ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(7) บริษัท ช จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า ได้มีการจัดสัมมนาให้แก่ บริษัทผู้แทนจำหน่ายเพื่อแนะนำสินค้าใหม่หรือเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในสินค้าที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อจากบริษัท ช จำกัด ไปจำหน่าย และบางกรณีก็ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งทั้งสองกรณีบริษัท ช จำกัด มิได้เรียกเก็บค่าสัมมนาจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย และได้จ่ายเงินช่วยเหลือค่าเดินทางและค่าที่พักให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายด้วย เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ช จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(8) บริษัท ซ จำกัด ประกอบกิจการขายยางรถยนต์ มีข้อตกลงกับบริษัท ผู้แทนจำหน่ายว่า กรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อยางรถยนต์จากบริษัท ซ จำกัด ไปเพื่อขายได้ตามเป้าที่กำหนด บริษัท ซ จำกัด จะจ่ายส่วนลดภายหลัง (Rebate) โดยจะจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ (Credit Note) เพื่อให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายนำมาชำระหนี้ค่าซื้อยางรถยนต์ในคราวต่อไป เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ซ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(9) บริษัท ฌ จำกัด เป็นผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ มีข้อตกลงกับบริษัท ผู้แทนจำหน่ายว่า บริษัท ฌ จำกัด จะให้ส่วนลดแก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายในอัตราร้อยละ 35 ของราคาสินค้าที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อจากบริษัท ฌ จำกัด โดยให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายรวบรวมยอดส่วนลดในแต่ละเดือนแล้วจัดส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินไปยังบริษัท ฌ จำกัด เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ฌ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(10) บริษัท ญ จำกัด ประกอบกิจการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีข้อตกลงกับ บริษัทผู้แทนจำหน่ายว่า กรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายสามารถขายสินค้ารุ่นเก่าออกจากสต็อกได้ บริษัท ญ จำกัด จะจ่ายเป็นค่าอุดหนุน (Subsidize) มูลค่า 500 บาท ต่อ 1 เครื่อง เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ญ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ข้อ 2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นตามข้อ 1 จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย โดยจ่ายในลักษณะเป็นสิ่งของ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในวันที่ที่มีการส่งมอบสิ่งของ โดยคำนวณมูลค่าของสิ่งของตามราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ส่งมอบของนั้น ตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นตามข้อ 1 จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย โดยจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามวันที่ที่ออกใบลดหนี้นั้น
ข้อ 4 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นตามข้อ 1 ได้ขาย สินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีการแถมสินค้าไปพร้อมกับสินค้าที่ขายซึ่งมูลค่าของสินค้าที่แถมไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขาย ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือไม่ ผู้ขายสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับมูลค่าของสินค้าที่แถม
ข้อ 5 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นตามข้อ 1 ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีข้อตกลงให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้วซึ่งเป็นส่วนลดเงินสด หากการให้ส่วนลดดังกล่าวเป็นการให้ส่วนลดที่เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า และได้มีการระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน ส่วนลดดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ตัวอย่าง บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้ง มูลค่า 350,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระราคาค่าสินค้าว่า ถ้าชำระภายใน 2 เดือน จะลดให้ 2,000 บาท หากบริษัท ก จำกัด ได้ระบุเงื่อนไขส่วนลดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน บริษัท ก จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ข้อ 6 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นตามข้อ 1 ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อดังต่อไปนี้ เมื่อผู้ขายสินค้าดังกล่าวจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(1) กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอย โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าเพียงเล็กน้อย เป็นต้น
(2) กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มี วัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น การขายอาหารสัตว์ให้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับกับกรณีผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้แทนจำหน่ายของผู้ขายซึ่งซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง
ตัวอย่าง บริษัท ฎ จำกัด ขายสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซึ่งโดยปกติบริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ แต่ในบางกรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายต้องการซื้อสินค้าของบริษัท ฎ จำกัด เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทผู้แทนจำหน่าย กรณีดังกล่าว เมื่อบริษัท ฎ จำกัด จ่ายเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ฎ จำกัด มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ข้อ 7 ให้นำความในข้อ 1 ถึงข้อ 6 มาใช้บังคับสำหรับการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการซึ่งผู้ให้บริการทราบโดยชัดแจ้งว่าผู้รับบริการนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อ หรือตามพฤติการณ์ผู้รับบริการมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อแน่นอน
ข้อ 8 รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายตามข้อ 1 ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่ต้องนำเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
สั่ง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
วิชัย จึงรักเกียรติ(นายวิชัย จึงรักเกียรติ)
รองอธิบดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา กรมสรรพากร / คำสั่งกรมสรรพากร