นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผวจ.อุทัยธานี พร้อมด้วยนายนพดล พลเสน นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล พร้อมคณะ  มอบรางวัลให้เด็กนักเรียนที่ชนะเลิศและได้รับรางวัลจากการประกวดโครงการทำบัญชีมีพอใช้.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริต้องการให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจ สังเกต จดจำ และทำบันทึกบัญชี อันเป็นการสร้างอุปนิสัยพื้นฐานด้านการเรียนรู้ต้นทุน กำไรในการประกอบอาชีพ

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงได้สนองพระราชดำริ โดยใช้ “โรงเรียน”  เป็นแกนนำถ่ายทอดศาสตร์บัญชีให้ กับเยาวชน เพื่อนำความรู้ไป ปฏิบัติ สร้างเครือข่ายต่อไป ยังครัวเรือน ผู้ปกครอง รวมถึงชุมชน ตามแนวนโยบายโครงการ ส่งเสริมความรู้ ภูมิปัญญาทางบัญชี เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ปี53

 

นายนพดล พลเสน ที่ปรึกษา  รมว.เกษตรฯ  บอกถึงโครงการส่งเสริมความรู้ ภูมิปัญญาทางบัญชีฯ ว่า… เพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น โดย เฉพาะกลุ่มภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ กระทรวงเกษตรฯจึงมีนโยบายให้ประชาชนรู้จักทำบัญชีครัวเรือน มีการจดบันทึกอย่างถูกต้อง

ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เลือกสหกรณ์การเกษตรบ้านไร่ จำกัด จังหวัดอุทัยธานี นำร่องโดยจัดทำ ต้นแบบให้ ปราชญ์ชาวบ้าน หมอดิน ครูบัญชีอาสา นำไปใช้เพื่อ  ให้ชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกัน  รู้จักจด
รู้จักจำ  และ ทำบันทึก

“…วันนี้ภาคเกษตรในจังหวัดอุทัยฯ กำลังจะแปรสภาพจากแหล่งผลิตค้าขายวัตถุดิบ มาสู่การพัฒนามาตรฐานสินค้า ที่มีระบบการจัดธุรกิจโดยภาคประชาชน ทั้งในด้านการรวบรวมผลผลิต การแปรรูป ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น กลไกภาคสหกรณ์ จึงนับว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ…”

จากนั้น นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กล่าวต่อว่า… สหกรณ์การเกษตรบ้านไร่ เป็นสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการสร้างองค์ความรู้ ทางบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้กับสมาชิกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาระบบควบคุมภายในข้อบกพร่องทางการเงิน

ปราชญ์ชาวบ้าน ครูบัญชีอาสา และนักเรียนเข้ารับการอบรมการทำบัญชีร่วมกันจาก สนง.ตรวจบัญชีในพื้นที่.

 

พร้อมกันนี้…สหกรณ์ดังกล่าวยังได้นำ COOP  HUB (ศูนย์ข้อมูลสหกรณ์ไทยระดับสหกรณ์) ซึ่งผู้บริหารสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ (ด้วยระบบบัญชี) เอาไปใช้ในการตัดสินใจและเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจทางการเงินอย่างต่อเนื่อง…ถือว่าได้รับความสำเร็จไปในขั้นตอนหนึ่ง

แต่ที่ผ่านมาข้อมูลของสหกรณ์ที่ได้รับจากสมาชิกยังไม่ละเอียดและถูกต้องนัก เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์น้อยคนที่จะรู้จักการทำบัญชีอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างฐานที่มั่นคงจึงต้องปลูกฝังแนวคิดเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจบัญชีครัวเรือน ด้วยการถ่ายทอดเข้าสู่สถานศึกษา สร้างบุตรหลานให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ที่เต็มเปี่ยมด้วยภูมิความรู้

อีกทั้ง…ทำให้ขบวนการสหกรณ์นักเรียนเกิดความเข้มแข็ง มีกิจกรรมการเกษตรที่พัฒนา มุ่งสอนให้เด็กคิด จด และ จำ ในเรื่องของต้นทุนกิจกรรมเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมด้วยจังหวัดอุทัยธานี ธ.ก.ส.รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมเฟ้นหาสหกรณ์ดีเด่น เป็นที่มาของ 8 สหกรณ์ 16 โรงเรียน

นางสาวมาลินี มัชบัญฑิตย์ นักเรียนจากโรงเรียนทัพทันอนุสรณ์ ตำบลทัพทัน อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 1 ใน 16 โรงเรียน บอกว่า…ทางโรงเรียนมีสอนหลักสูตรทำบัญชีวิชาคณิตศาสตร์ ที่ อาจารย์นงเยาว์ อักษร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการสอนอยู่ ประกอบกับทางสำนักงานตรวจบัญชีฯได้รณรงค์ให้หันมาฝึกทำบัญชี พวกเราจึงได้ทำโครงการนำเสนอและชักชวนผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นเริ่มวางแผนพร้อมทั้งจัดทำเครื่องมือ หาข้อมูล

พร้อมทั้งสำรวจทัศนคติเพื่อนๆในโรงเรียนที่มีต่อการทำบัญชี ควบคู่การจัดกิจกรรม อาทิ การเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือนที่ครอบครัว  ชุมชนโดยรอบสามารถเข้า

มามีส่วนร่วมได้ หลังจดบันทึกไปได้ ระยะหนึ่ง ทำให้รู้ว่าบัญชีมีส่วนช่วยให้เรารู้ภาวะการเงินภายในครอบครัว เสมือนเป็นภูมิป้องกัน บัญชีทำให้รู้ระบบการใช้จ่ายที่สามารถตัดส่วนไม่จำเป็นออกได้ และเกิดการประมาณตนได้เป็นอย่างดี

…นับว่ากระทรวงเกษตรฯเริ่มใช้กลไกชุมชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ผ่านเกษตรกรรุ่นใหม่ (หรือในอนาคต) ที่เข้าถึงชุมชน อันเป็นการปูพื้นฐาน…ไทยเข้มแข็งแท้จริง.

ที่มา  เพ็ญพิชญา  เตียว